กฐินทาน มหากาลทานของชาวพุทธ

      กฐินทาน  บุญใหญ่ของชาวพุทธที่มีความสำคัญและยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลา 2,000 กว่าปีตั้งแต่สมัยพุทธกาล   เพราะเหตุใด การทอดกฐิน จึงได้ชื่อว่าเป็น "มหากาลทาน" ที่ชาวพุทธให้ความสำคัญมาโดยตลอด

ทอดกฐิน

การทอดกฐิน เป็นประเพณีของชาวพุทธที่สืบทอดมานานกว่า 2,500 ปี นับตั้งแต่ครั้งที่พระพุทธองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน 

บุญที่ได้จากการทอดกฐิน เป็นบุญใหญ่ที่มีอานิสงส์มาก เพราะเป็นบุญที่ทำได้ยากและมีข้อจำกัดหลายประการ  การทำบุญทอดกฐินจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อต้องมีการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์เท่านั้น  ในบางกัปที่ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ในยุคนั้นนอกจากจะไร้ซึ่งพระพุทธศาสนาแล้ว ยังทำให้ทุกคนหมดโอกาสทอดกฐินอีกด้วย  เพราะการทำบุญทอดกฐินจะมีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้การทอดกฐินจึงเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนให้ความสำคัญมาทุกยุคทุกสมัย เพราะตระหนักดีว่าเป็น ยอดของมหากุศล หรือ มหากาลทาน ที่หนึ่งปีจะมีโอกาสทำเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ทอดกฐิน


         ประวัติการทอดกฐิน 

        ในสมัยหนึ่ง เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ตอนนั้นมี พระพุทธานุญาตให้พระภิกษุอยู่จำพรรษากันแล้ว ต่อมามีพระภิกษุชาวเมืองปาฐา ๓๐ รูปเดินทางไกล มาเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ แต่พอมาถึงเมืองสาเกต ซึ่งอยู่ห่างเมืองสาวัตถี ๖ โยชน์ ก็พอดีถึงวันเข้าพรรษา เสียก่อน จึงจำเป็นต้องเข้าจำพรรษา ณ เมืองสาเกต พอออกพรรษาจึงรีบเดินทางไปเข้าเฝ้าพระศาสดา แต่เพราะฤดูฝนยังไม่สิ้นสุด การเดินทางจึงมีความยากลำบาก เพราะหนทางเต็มไปด้วยน้ำเจิ่งนอง  ทำให้สบงจีวรที่ท่านนุ่งห่มเปียกปอนเปรอะเปื้อนและเปื่อยขาด  เมื่อถึงวัดพระเชตะวัน ภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ด้วยจีวรที่เปรอะเปื้อนและขาดชำรุดในระหว่างเดินทาง

ครั้นเมื่อพระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็น จึงมีพระบรมพุทธานุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษา ได้รับผ้ากฐินที่ชาวบ้านจัดมาถวายเพื่อเปลี่ยนจีวรได้ ตั้งแต่นั้นมาจึงมีประเพณีการทำจีวรและการถวายจีวรกฐินเกิดขึ้น


อานิสงส์จากการทำบุญทอดกฐิน

ฝ่ายทายก ชื่อว่าได้ถวายกาลทานแก่พระสงฆ์ ย่อมได้รับอานิสงส์ผลบุญเป็นอันมากจากการถวายสังฆทานเฉพาะกาล

ฝ่ายสงฆ์ พระภิกษุผู้ได้กรานกฐินและอนุโมทนาแล้ว ย่อมได้รับอานิสงส์ตามพระวินัย ๕ ประการ

กล่าวโดยย่อ อานิสงส์ผลบุญที่ได้รับจากการทอดกฐิน คือ

1. จะได้เกิดมาในตระกูลที่ดี มีสัมมาทิฐิ มีเกียรติยศ มีชื่อเสียงที่ดีงาม

2. จะเกิดมาโดยมีร่างกายที่ได้คุณลักษณะที่งดงามสมส่วน

3. จะเกิดมามีผิวพรรณงดงาม จิตใจแจ่มใส ร่าเริงเบิกบาน

4. จะเกิดมามีทรัพย์สมบัติมาก ไม่ลำบากในการแสวงหาทรัพย์

5.ได้ชื่อว่าเป็นผู้สามารถใช้ทรัพย์สมบัติให้เกิดเป็นบุญกุศลติดตัวไปในภพเบื้องหน้าได้อย่างเต็มที่

6. เมื่อละโลกแล้ว อย่างน้อยได้ไปบังเกิดในสวรรค์

 

ทอดกฐิน

เพราะเหตุใด การทอดกฐินจึงได้บุญมหาศาล ?

       เหตุที่บุญจากการทอดกฐินเป็นบุญที่มีอานิสงส์มาก  เพราะนอกจากจะเป็นบุญที่ทำได้ยากกว่าการทำบุญประเภทอื่นแล้ว  การทอดกฐินยังถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขเฉพาะที่แตกต่างจากบุญทั่วไป คือ

1. จำกัดกาลเวลา คือ ต้องถวายภายในเวลาจำกัด ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงกลางเดือน 12 รวมเวลา 29 วันเท่านั้นจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กาลทาน

2. จำกัดชนิดทาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น ผู้ถวายจะเจาะจงถวายแก่รูปนั้นรูปนี้แบบปาฏิบุคลิกทานเหมือนการถวายของอย่างอื่นไม่ได้

3. จำกัดคราว คือแต่ละวัดจะรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

4. จำกัดผู้รับ คือ พระผู้จะลงรับกฐินได้จะต้องจำพรรษาอยู่ที่วัดนั้นครบไตรมาสไม่ขาดพรรษา และต้องมีจำนวนตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไป ทั้งต้องลงรับพร้อมกันทั้งหมดด้วย

5. จำกัดงาน คือ พระผู้รับกฐิน เมื่อรับผ้ากฐินมาจากเจ้าภาพแล้ว จะต้องทำการกรานกฐินให้แล้ว เสร็จภายในวันนั้นจะเลื่อนไปเป็นวันรุ่งขึ้นหรือวันอื่นๆ ไม่ได้

6. จำกัดของถวาย คือ ของถวายต้องเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในจำนวนไตรจีวรเท่านั้น นอกนั้นจัดเป็นบริวารกฐินทั้งหมด

7. กฐินทาน เป็นพุทธประสงค์โดยตรง ส่วนทานอย่างอื่น จะทรงอนุญาตก็ต่อเมื่อมีคนมาทูลขอ เช่น การถวายผ้าอาบน้ำฝน

8.ทานอย่างอื่นได้อานิสงส์เฉพาะผู้ถวาย  แต่กฐินได้อานิสงส์ทั้งทายกผู้ถวายและปฏิคาหกคือพระภิกษุผู้รับถวายและอนุโมทนากฐินนั้น

นอกจากการทอดกฐินจะเป็นบุญที่ทำได้ยากแล้ว  หากพ้นช่วงเวลาที่กำหนด วัดใดยังไม่ได้รับกฐิน หรือเป็นวัดที่มีกฐินตกค้าง คือไม่มีคนจองเป็นเจ้าภาพกฐิน วัดนั้นก็หมดโอกาสทอดกฐินในปีดังกล่าว และยังหมดโอกาสที่จะได้รับปัจจัยทำบุญกฐินจากญาติโยมเพื่อนำมาบำรุง ซ่อมแซมศาสนาสถานและพัฒนาวัดเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไปอีกด้วย  เพราะในการทอดกฐินแต่ละครั้งพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะรวบรวมปัจจัยเพื่อถวายเป็นบริวารกฐินควบคู่กับการถวายผ้ากฐินซึ่งเป็นองค์กฐินไปพร้อมกัน

และเนื่องจาก กฐินกาล เป็นพุทธานุญาต จึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้  ดังนั้น หากวัดใดหมดโอกาสจัดงานทอดกฐินติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี  วัดนั้นอาจกลายเป็นวัดร้างในที่สุด 

ด้วยเหตุนี้ ประเพณีการทอดกฐินจึงมีความสำคัญที่พุทธศาสนิกชนต้องช่วยกันรักษาไว้ เพราะจะเป็นการช่วยรักษาอายุพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ต่อไป


-------------------

บทความโดย : เดอะซัน  
Facebook : @khaethinkpositive

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประวัติการก่อพระเจดีย์ทราย

คนแบบไหนที่เราควรอยู่ใกล้ๆ

ชนะได้.. แต่ไม่จำเป็นต้องชนะทุกครั้ง !!