ประวัติการก่อพระเจดีย์ทราย

        ประเพณีการก่อเจดีย์ทรายในเทศกาลสงกรานต์นั้น  เป็นสิ่งที่ชาวไทยพุทธปฏิบัติสืบเนื่องกันมาเป็นเวลาช้านานตั้งแต่สมัยพุทธกาล  โดยการก่อพระเจดีย์ทรายถือเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาโดยตรง   ด้วยเหตุที่ว่าเมื่อเราเข้าวัดทำบุญ หรือประกอบกิจกรรมต่างๆภายในวัด เมื่อเดินออกมาจากวัดเศษดิน เศษหินต่างๆจะติดรองเท้าเราออกมาด้วย  ซึ่งตามความเชื่อของชาวพุทธจะถือว่าสิ่งก่อสร้างทุกอย่างภายในวัดไม่ว่าจะเป็นโบสถ์  ศาลาการเปรียญ  อาคารต่างๆ แม้กระทั่งก้อนหิน ดิน ทราย ต้นไม้  ทุกอย่างญาติโยมได้ถวายไว้เป็นสมบัติของพระศาสนาแล้ว  ดังนั้นเมื่อเราเอาสิ่งใดออกไปจากวัดโดยพละการ คือไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าอาวาสแล้ว ถือเป็นการละเมิดศีลข้อที่ 2 (ห้ามลักทรัพย์)ทั้งสิ้น   
ภาพ watpamahachai

    คนโบราณจึงหาวิธีการแก้ปัญหานี้ด้วยการให้มีประเพณีการขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นการใช้หนี้คืนสงฆ์  และก่อพระเจดีย์ทรายเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในการก่อพระเจดีย์ทรายจะถูกประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ และธงสีต่างๆ เพื่อความสวยงามตามแต่ละคนจะสร้างสรรค์
    ในการก่อพระเจดีย์ทรายจะถูกประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ และธงสีต่างๆ เพื่อความสวยงามตามแต่ละคนจะสร้างสรรค์
     ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา ตอนอรรถกถาเถรคาถา  ได้กล่าวถึงอานิสงส์ของการก่อเจดีย์ทรายไว้ว่า 
     ในกาลสมัยของโลกที่ว่างจากพระพุทธเจ้า พระวสภะเถระได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ เมื่อเจริญวัยขึ้นเป็นผู้มีอัธยาศัยไปในเนกขัมมะ ละการครองเรือนออกบวชเป็นดาบสแล้วไปสร้างอาศรมอยู่บนภูเขาชื่อว่าสมัคคะไม่ไกลป่าหิมพานต์ วันหนึ่งคิดว่าตนเป็นผู้หาคนบูชาไม่ได้ เป็นผู้มีความทุกข์ในโลก คิดได้อย่างนี้แล้วก็เนรมิตพระสถูปทราย กระทำการบูชาทุกวันตลอดอายุ ตายแล้วไปเกิดในพรหมโลก ต่อมาจุติจากพรหมโลกไปบังเกิดในดาวดึงส์ ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ภพสุดท้ายได้ไปเกิดในตระกูลลิจฉวี กรุงเวสาลีในพุทธุปบาทกาลนี้ นามว่า วสภะ เป็นผู้มีจิตศรัทธาบวชแล้ว ไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหัตผล 

ภาพ pptv
     สาระสังเขปอานิสงส์ก่อเจดีย์ทรายฉบับวัดทุงยู จ.เชียงใหม่
     ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ในเวฬุวนอารามแห่งเมืองราชคฤห์พร้อมด้วยหมู่ภิกษุ ๕๐๐ รูป  พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปสู่แม่น้ำพร้อมด้วยข้าราชบริพาร นำเอาทรายที่ได้จากแม่น้ำก่อเป็นเจดีย์ทราย ประดับด้วยธงแล้วถวายพร้อมกับจีวร ภัตตาหารแด่พระภิกษุ พระเจ้าปเสนทิโกศลแลหมู่คนที่ร่วมกันทำบุญต้องการที่รู้ถึงผลแห่งบุญที่ได้ทำแล้วนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสตอบเป็นคาถาความว่า
      บุคคลใดได้ก่อเจดีย์ทรายถวายเป็นทาน ก็มีอานิสงส์มาก ย่อมได้รับสุข ๓ ประการ สุดท้ายก็จะได้พบพระนิพพานฯ บุคคลใดได้ก่อเจดีย์ทรายถวาย ตายไปแล้วย่อมไปเกิดในตระกูลพราหมณ์ และตระกูลกษัตริย์ ประกอบด้วยทรัพย์สมบัติมาก ย่อมได้ไปเกิดในชมพูทวีป บุคคลทั้งหลายนั้นย่อมมีรูปอันงดงาม เมื่อไปเกิดในที่ใด ก็ย่อมเป็นที่รักใคร่ยินดีแก่คน และเทวดาทั้งหลาย ย่อมไม่ไปเกิดในที่ร้าย คือนรกเป็นต้น บุคคลใดได้ประดับช่อธง ฉัตรบูชาเจดีย์ทราย ก็จะได้ไปเกิดเป็นท้าวพญา ประกอบด้วยแก้วทั้ง ๗ ก็ด้วยการสักการบูชาเจดีย์ทราย
       บุคคลใดได้ก่อเจดีย์ทราย ย่อมมีข้าหญิงชายมาแวดล้อมเป็นบริวาร พ้นจากทุกข์ทุกประการ ได้อยู่ในปราสาทอันงาม มีจาตุรงคเสนามาก ก็ด้วยอานิสงส์ก่อเจดีย์ทราย บุคคลทั้งหลายทั้งชายหญิงย่อมมีวัวควาย ผ้าผ่อน ผ้าแพร เครื่องบริโภคต่าง ๆ ไปในที่ใดคนและเทวดาก็เคารพบูชา บุคคลทั้งหลายนั้นย่อมไปเกิดในสวรรค์ดาวดึงส์ เป็นจอมเทพได้ ๓๔ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้ ๓๔ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิในทวีปทั้ง ๔ มีเมืองใหญ่เมืองน้อยเป็นบริวารอันประมาณไม่ได้ เสวยราชสมบัติมาก ก็ด้วยอานิสงส์ก่อเจดีย์ทรายถวายแท้แน่นอน


ภาพ  thaiza
     นอกจากนี้ยังเป็นกุศโลบายของคนโบราณที่จะปลูกฝังความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม และความสามัคคีให้แก่ลูกหลานรุ่นต่อๆไป คือ
1. เป็นการสอนไม่ให้ทำผิดศีลข้อ 2 (ลักทรัพย์)  เพราะการที่เศษดิน เศษทรายจากวัดติดรองเท้าเราออกไปทั้งๆที่เราอาจไม่มีเจตนา แต่ก็ถือว่าเป็นการทำให้ศีลข้อที่ 2 ของเราด่างพร้อยไปด้วย
2. สอนไม่ให้เป็นคนดูเบา ว่าผิดศีลเพียงเล็กน้อยคงไม่เป็นไร เพราะเมื่อเราทำผิดบ่อยๆ เข้ามันจะกลายเป็นความเคยชิน เมื่อทำมากขึ้นเรื่อยๆ จะเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องธรรมดา  การเกรงกลัวต่อบาปกรรมจะลดน้อยถอยลง
3.   เป็นการสอนให้เห็นคุณค่าของบุญ  คือสิ่งของทุกอย่างภายในวัดได้มาจากญาติโยมถวายด้วยความศรัทธา เมื่อถวายให้แก่วัดแล้วจึงถือว่าเป็นสมบัติของพระศาสนา  เมื่อไหร่ที่วัดนำสิ่งของนั้นมาจัดกิจกรรมงานบุญ ผู้ถวายก็ย่อมะได้อานิสงส์ผลบุญนั้นอย่างต่อเนื่อง 
4. เป็นการสร้างความคุ้นเคย และสามัคคีให้เกิดแก่หมู่ญาติพี่น้อง คนในชุมชน  และพระภิกษุสงฆ์ ด้วยการทำกิจกรรมร่วมกัน 
5. ทำให้ใจผูกพันอยู่กับพระพุทธเจ้า ด้วยการก่อพระเจดีย์ทรายน้อมถวายเป็นพุทธบูชา 
ภาพ  thairath
  เพราะฉะนั้นการก่อพระเจดีย์ทราย จะให้ได้อานิสงส์มาก เราต้องมีความตั้งใจว่าจะก่อพระเจดีย์ทรายนี้เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา และนึกน้อมไปว่าทรายที่เราขนเข้าวัดนี้ ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในงานพระศาสนาได้อีกต่อไป อีกทั้งยังเป็นการชำระหนี้สงฆ์ด้วย


บทความโดย :  เดอะซัน
Blog : khaethinkpositive.blogspot
Facebook : @khaethinkpositive

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คนแบบไหนที่เราควรอยู่ใกล้ๆ

ชนะได้.. แต่ไม่จำเป็นต้องชนะทุกครั้ง !!