เข้าพรรษา "พรรษาวิสุทธิ์"
ไม่ว่าเราจะตั้งเป้าหมายทำอะไรในช่วงเข้าพรรษาก็ตาม สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ อย่าขาดการปฏิบัติธรรม ให้การปฏิบัติธรรมเป็นเหมือนดั่งลมหายใจเข้าออกของเรา เป็นอากาศที่เราจะขาดไม่ได้ การปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอทำให้เราเกิดปัญญาสอนตัวเอง เราจะเชื่อในเรื่องบุญบาป และกฎแห่งกรรม
วันเข้าพรรษา ความเป็นมา
แต่เดิมนั้นพระพุทธองค์มิได้ทรงบัญญัติเรื่องการเข้าพรรษาของเหล่าพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
เพราะเมื่อถึงฤดูฝนของทุกปีพระพุทธองค์และเหล่าพระสงฆ์สาวกจะงดการออกจาริกตามสถานที่ต่าง
ๆ เพื่อแสดงธรรม แก่ชาวเมืองเป็นปกติ ด้วยการเดินทางในสมัยนั้นไม่สะดวกมีความยากลำบากอยู่มาก แต่พระพุทธองค์จะทรงจำพรรษาหรืออยู่อาศัย ณ
ที่แห่งใดแห่งหนึ่งตลอดช่วงฤดูฝน อีกทั้งในสมัยต้นพุทธกาลพระภิกษุในพระพุทธศาสนายังมีจำนวนไม่มาก
และพระภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นพระอริยสงฆ์ทั้งสิ้น
จึงทราบดีว่าอะไรเป็นสิ่งที่พระภิกษุควรกระทำและไม่ควรกระทำ
ครั้นเมื่อเวลาผ่านไปพระภิกษุสงฆ์มีจำนวนมากขึ้น
ภิกษุเหล่านั้นมักจาริกไปตามสถานที่ต่างๆเพื่อแสดงธรรมะแก่ญาติโยม
และหาที่เงียบสงัดในพื้นที่ป่าเขาเพื่อเจริญสมาธิ
ทำให้หลายครั้งต้องเดินผ่านท้องนาของชาวบ้าน
แต่เมื่อฤดูฝนเริ่มมาถึง ชาวนาเริ่มทำการเพาะปลูก ด้วยความที่พระภิกษุเหล่านั้นไม่ทราบว่าหนทางที่เดินผ่านเป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรมชองชาวบ้าน จึงทำให้ท่านเดินเหยียบย่ำลงไปบนต้นกล้าที่กำลังเติบโต
เพราะคิดว่าเป็นต้นหญ้า สร้างความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นแก่ชาวบ้านทั่วไป
ชาวบ้านเหล่านั้นจึงได้พากันติเตียนและนำความไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบถึงปัญหาเช่นนั้น จึงทรงกำหนดเป็นกฎระเบียบให้พระภิกษุสงฆ์อยู่ประจำพื้นที่
หรือจำพรรษา ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดช่วงฤดูฝนเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11
โดยวันเข้าพรรษาที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้มีอยู่
2 วัน คือ
1.ปุริมพรรษา (บุริมพรรษา) คือ การเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) พระที่อยู่จำพรรษาครบ
3 เดือน จะมีสิทธิรับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน
นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
2. ปัจฉิมพรรษา คือ การเข้าพรรษาหลัง ใช้ในกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัย
ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกไม่ทัน ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือตั้งแต่วันแรม
1 ค่ำ เดือน 9 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี
ดังนั้นพระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน
แต่ก็ได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษาเหมือนกัน
เมื่อพระภิกษุรูปใดเข้าจำพรรษาแล้ว
พระภิกษุรูปนั้นจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ หากเดินทางออกไปแล้วกลับมาไม่ทันก่อนเวลารุ่งสว่าง
จะถือว่าพระภิกษุรูปนั้น "ขาดพรรษา" และจะไม่ได้รับอานิสงส์พรรษา
ไม่ได้อานิสงส์กฐินตามพระวินัย และทั้งยังห้ามไม่ให้นับพรรษาที่ขาดนั้นอีกด้วย
ยกเว้นหากมีความจำเป็นใน
4 กรณี ที่เรียกว่า "สัตตาหกรณียะ" ที่พระภิกษุผู้อยู่จำพรรษาสามารถเดินทางไปค้างแรมที่อื่นได้
โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษา แต่ต้องกลับมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน คือ
1.การไปรักษาพยาบาลภิกษุ
หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
2.การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากลาสิกขามิให้ลาสิกขา
3.การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด หรือการไปทำสังฆกรรม เช่น
สวดญัตติจตุตถกรรมวาจาให้พระผู้ต้องการอยู่ปริวาส
4.หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็สามารถไปเพื่อรักษาศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้ รวมถึงธุระอื่นนอกเหนือจากนี้ที่เป็นกิจลักษณะอนุโลมตามนี้ได้
แต่ถึงแม้พระสงฆ์จะออกจากที่จำพรรษาด้วยเหตุสัตตาหกรณียะแล้วก็ตาม
แต่หากล่วงกำหนด 7 วันตามพระวินัยแล้ว ก็ถือว่า ขาดพรรษา เหมือนกัน และเป็นอาบัติทุกกฎเพราะรับคำอธิษฐานเข้าพรรษาแล้วแต่ทำไม่ได้
ส่วนกรณีที่พระสงฆ์สัตตาหกรณียะและกลับมาตามกำหนดแล้ว ไม่ถือว่าเป็นอาบัติ และสามารถกลับมาจำพรรษาต่อเนื่องไปได้
และหากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องออกจากที่จำพรรษาไปได้ตามวินัยอีก
ก็สามารถทำได้โดยสัตตาหกรณียะ แต่ต้องกลับมาภายใน 7วัน
เพื่อไม่ให้พรรษาขาดและไม่เป็นอาบัติทุกกฎ
ภาพ : pixabay.com |
“วันเข้าพรรษา” สำคัญอย่างไร
“เข้าพรรษา” สำหรับพระภิกษุสงฆ์
การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติพระวินัยเรื่องการเข้าพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ นอกจากจะเป็นการแก้ไขความเดือดร้อนของชาวบ้าน และรักษาชีวิตสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกมาหากินในช่วงฤดูฝนแล้ว
การเข้าพรรษายังมีประโยชน์ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ พระภิกษุสงฆ์มีโอกาสได้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ
ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์คือ
1.ทำให้พระภิกษุสงฆ์มีเวลาพักผ่อน และมีโอกาสแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดพระธรรมคำสอน
ศีลธรรม และธรรมวินัยให้แก่กันและกัน
2.มีเวลาเพื่อปฏิบัติธรรม
การใช้เวลาเพื่อการปฏิบัติภาวนาให้มากขึ้นจะเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา
ทำให้สามารถสอนตนเองได้
อันจะเป็นหนทางไปสู่ความบริสุทธิ์แห่งกาย วาจา ใจ
และการเพิ่มพูนบารมีของตนเองให้มากยิ่งขึ้นจนสามารถกำจัดอาสวะกิเลสให้หมดไป
3.มีโอกาสในการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอย่างต่อเนื่อง
เรื่องใดที่ยังไม่รู้ก็มีโอกาสศึกษา เรื่องใดที่รู้แล้วแต่ยังไม่แม่นยำ
ก็มีโอกาสศึกษาให้แตกฉานมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีเวลาวางแผน เตรียมเนื้อหาเพื่อเทศน์สอนแก่ประชาชนหลังออกพรรษาไปแล้ว หรือแม้หากมีพระภิกษุบวชใหม่ก็มีเวลาในการรับการถ่ายทอดธรรมะ
และการอบรมสั่งสอนจากพระภิกษุผู้บวชก่อนได้อย่างเต็มที่
4.ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้แก่กันและกัน การทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น
แน่นอนว่าย่อมพบเจอปัญหาและอุปสรรคระหว่างทางไม่มากก็น้อย หนักเบาแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล
ซึ่งอาจทำให้พระภิกษุบางรูปรู้สึกท้อแท้จนอาจคิดลาสิกขาจากเพศบรรพชิต
เพราะเหตุผลดังกล่าว
การเข้าพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ในทุก ๆ ปีจึงมีความสำคัญมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่พระภิกษุจะมีเวลาอยู่กับตัวเองเพื่อคิดทบทวน
และใช้เวลาไปเพื่อการปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่ เพื่อความบริสุทธิ์แห่งการครองเพศสมณะที่สมบูรณ์ และเป็นต้นแบบที่ดีในการออกไปทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนาในภายหลัง
ภาพ : pixabay.com |
“เข้าพรรษา” สำหรับชาวพุทธ
😉 😃 ตั้งเป้าหมาย “ทำความดี” อย่างน้อย 1 อย่าง
การเข้าพรรษาแม้จะเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุสงฆ์โดยตรง แต่ชาวพุทธก็ยึดถือเอาช่วงเข้าพรรษานี้เป็นโอกาสอันดีที่จะเพิ่มพูนบุญกุศลและคุณความดีให้แก่ตัวเองด้วยการลด
ละ เลิก อบายมุขและบาปอกุศล บางคนอาจถือโอกาสนี้ในการอธิษฐานพรรษาหรือตั้งใจที่จะทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่งตลอดระยะเวลา
3 เดือนในช่วงเข้าพรรษานี้ เช่น
-ตั้งใจถือศีล 8 ตลอดพรรษา
-ใส่บาตรตอนเช้าทุกวัน
-ตั้งใจสวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน
หรือจะนั่งสมาธิทุกวัน
-ตั้งใจเลิกเหล้า
หรือเลิกบุหรี่อย่างถาวร ฯลฯ
ความตั้งใจละชั่ว
ทำดีในช่วงเข้าพรรษาของชาวพุทธเป็นสิ่งที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นพุทธประเพณีมาจวบจนถึงปัจจุบันนี้
เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าแม้กาลเวลาจะล่วงเลยไปตามยุคสมัย แต่ชาวพุทธก็ยังมีจิตใจที่ดีงามและมีความคุ้นเคยในเรื่องบุญบาปมาโดยตลอด
อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตนในช่วงเข้าพรรษาเฉกเช่นเดียวกับพระภิกษุสงฆ์ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ภาพ : pixabay.com |
“พรรษาวิสุทธิ์”
วันเข้าพรรษาของทุกปี จึงเป็นช่วงเวลาที่ชาวพุทธควรใช้เป็นโอกาสในการปรับปรุงข้อบกพร่องของตัวเอง
เรื่องใดที่เราเคยตั้งใจไว้ว่าจะทำแต่ยังไม่ได้ลงมือทำ
ก็ควรถือเป็นโอกาสเริ่มต้นทำสิ่งนั้นเสีย
ที่สำคัญคือเรื่องที่จะทำก็ต้องเป็นเรื่องที่ดี
เป็นเรื่องที่ทำให้เรามีการพัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลักษณะนิสัย พฤติกรรม
หรือเรื่องอะไรก็ตามที่ทำให้คุณธรรมความดีในตัวเราเพิ่มมากขึ้น
และไม่ว่าเราจะตั้งเป้าหมายทำอะไรในช่วงเข้าพรรษาก็ตาม สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้
คือ อย่าขาดการปฏิบัติธรรม ให้การปฏิบัติธรรมเป็นเหมือนดั่งลมหายใจเข้าออกของเรา
เป็นอากาศที่เราจะขาดไม่ได้ การปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอทำให้เราเกิดปัญญาสอนตัวเอง เราจะเชื่อในเรื่องบุญบาป และกฎแห่งกรรม
แม้ผลการปฏิบัติธรรมของเราจะดีบ้างไม่ดีบ้างก็ตาม และยิ่งหากพร้อมใจกันทำทั้งครอบครัว ความสว่างไสวย่อมบังเกิดขึ้น ความเป็นสิริมงคลทั้งหลายจะหลั่งไหลมาสู่ตัวเราและคนในครอบครัวด้วยกระแสแห่งบุญนั้น
ภาพ : pixabay.com |
อานิสงส์
เพศบรรพชิตนั้นเป็นเพศที่เหมาะสมแก่การแสวงหาหนทางพ้นทุกข์
เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปกับเรื่องการหาเลี้ยงครอบครัว จึงเป็นเพศที่ปลอดกังวล ไร้พันธะผูกพันกับเรื่องใดๆ
ต่างกับฆราวาสที่ยังต้องใช้ชีวิตทางโลก
เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับเรื่องการทำมาหาเลี้ยงชีพและครอบครัว ดังนั้นการตั้งเป้าหมายหรืออธิษฐานพรรษาของเราที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จลุล่วงดังที่ตั้งใจไว้ตลอดช่วงพรรษา หากเราทำได้สำเร็จสมดังเจตนาแล้ว
ย่อมได้รับอานิสงส์คือ
-สัจจะบารมี
การอธิษฐานพรรษาเปรียบเสมือนสัจจะที่เราได้ให้สัญญาไว้กับตัวเอง ซึ่งหากเราสามารถทำได้สำเร็จก็เท่ากับเราสามารถรักษาสัจจะที่ให้ไว้กับตัวเองได้
-ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น บางคนจากที่ปกติรักษาศีล 5 ยังไม่สมบูรณ์
ก็มีความตั้งใจที่จะรักษาศีล 5 หรือศีล 8
ตลอดช่วงพรรษานั้น
-ฝึกความอดทนอดกลั้น
บางคนอาจตั้งใจไว้ว่าจะเลิกอบายมุขให้ได้อย่างเด็ดขาด เช่น เลิกเหล้า เลิกบุหรี่
ฯลฯ
คนที่ตัดสินใจเลิกในสิ่งที่เคยทำเป็นปกติมาตลอดเป็นเวลาหลายปีนั้น
ต้องมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมาก
เพราะต้องใช้ทั้งกำลังใจและความพยายามที่จะไม่หวนกลับไปทำเช่นนั้นอีก
ดังนั้นหากเราเห็นถึงความสำคัญของการเข้าพรรษาและมีความตั้งใจที่จะเพิ่มพูนคุณความดี เพิ่มพูนบุญกุศลให้แก่ตัวเองจริงๆแล้ว
แม้เราจะมิใช่เพศบรรพชิตแต่เราก็สามารถอธิษฐานพรรษาได้เช่นเดียวกันกับพระภิกษุสงฆ์
และการเข้าพรรษาที่จะได้บุญได้อานิสงส์มากมายนั้น ต้องควบคู่ไปกับการปฏิบัติธรรมเป็นประจำสม่ำเสมอจนกระทั่งตัวเรามีความรู้สึกว่า
การปฏิบัติธรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของลมหายใจที่จะขาดเสียไม่ได้
การปฏิบัติธรรมจะช่วยยกระดับจิตใจของเราให้สูงยิ่งขึ้น เราจะมีความรักความเมตตา
และปรารถนาดีต่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้ การเบียดเบียน พยาบาทมาดร้ายต่อกันจะไม่บังเกิด
หากเราปฏิบัติได้อย่างนี้จึงจะเป็นการจำพรรษาที่มีคุณค่า
เป็น “พรรษาวิสุทธิ์” สมกับที่เราได้โอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง.
-----------------------
บทความโดย : เดอะซัน
Blog : khaethinkpositive.blogspot
Facebook : @khaethinkpositive
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น