รักที่หมดอายุ

ได้เห็นข่าวที่คู่รักหลายคู่เลิกรากันไป ด้วยเหตุผลที่คล้ายๆกันคือ
   “เราไปกันไม่ได้...”
   “เราเข้ากันไม่ได้...”
ฟังดูแล้วเป็นเหตุผลที่ไม่ชัดเจนเท่าไหร่ กับคำว่า “ไปกันไม่ได้”  “เข้ากันไม่ได้”




   การที่คนสองคนได้มาพบกันในชาตินี้   ตามหลักพระพุทธศาสนาได้กล่าวไว้ว่าเป็น บุพเพสันนิวาส ของคนสองคนที่กระทำร่วมกันมาในอดีต จึงเป็นเหตุได้ทั้งคู่ได้มาพบเจอกันในชาตินี้    แต่เมื่อพบเจอกันแล้วก็ต้องอาศัยการกระทำในปัจจุบัน  ซึ่งก็คือการศึกษานิสัยใจคอ  และการเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากัน


แต่ละคนเกิดมาในครอบครัว ฐานะ และการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน  ถึงแม้ “มีวาสนาได้มาเจอกัน”  แต่หากขาดการเกื้อกูลช่วยเหลือกันและกันในปัจจุบันแล้ว  “วาสนา” นั้นก็คงผูกทั้งคู่ไว้ได้ไม่ตลอด

   หลักธรรมในการครองเรือนนั้น  มีมาช้านาน  เป็นหลักในการใช้ชีวิตคู่ที่พระพุทธเจ้าได้กล่าวไว้ก่อนที่จะมีหลักสูตรจิตวิทยาในการครองเรือน หรือการให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตคู่ที่มีในปัจจุบันนี้เสียอีก  ขึ้นอยู่กับว่า เราจะเข้าใจและนำเอาหลักธรรมนั้นมาประยุกต์ใช้ในชีวิตของเราได้อย่างไร

          ฆราวาสธรรม   หรือหลักในการครองเรือน มีอยู่ด้วยกัน 4 ข้อ 

สัจจะ  คือความจริงใจ  ซื่อสัตย์

เมื่อคนสองคนตกลงใจที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน  สามีภรรยาควรให้เกียรติ์ และซื่อสัตย์ต่อกัน 

เพราะอะไร?

เพราะการอยู่ร่วมกัน ย่อมต้องการคนที่ไว้ใจได้  เราจะมีความสุขได้อย่างไร เมื่ออยู่กันด้วยความหวาดระแวง  กลัวว่าอีกฝ่ายจะนอกใจ  หรือแอบมีความลับใดๆ เก็บไว้

ความหวาดระแวงเป็นบ่อเกิดของการแตกความสามัคคีฉันใด
ความหวาดระแวงก็เป็นจุดเริ่มต้นของความร้าวฉานในชีวิตครอบครัวฉันนั้น

           ทมะ คือการข่มใจ ข่มอารมณ์ เป็นการอดทนทางจิตใจ

สามีภรรยาต้องมีการปรับตัวเข้าหากันทั้งสองฝ่าย  อะไรที่ชอบ/ไม่ชอบ ต้องมีการพูดคุยเพื่อปรับความเข้าใจ และยอมรับในข้อบกพร่องของกันและกัน  

ไม่มีใครเกิดมาสมบูรณ์แบบ  เราจึงต้องยอมรับในความแตกต่าง
หากคนหนึ่งร้อน  อีกคนหนึ่งต้องเย็น  เพราะหากอารมณ์ร้อนด้วยกันทั้งคู่ ก็พังอย่างเดียว 
การตัดสินใจใดๆ ในยามที่โกรธ ย่อมเกิดความผิดพลาดได้ง่ายมาก 


          ขันติ     คือความอดทนต่อความยากลำบาก

การครองเรือนทำให้ต้องมีภาระเพิ่มขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นด้านการงานซึ่งเป็นภาระของตัวเราเอง   และภาระที่เกี่ยวเนื่องกับคู่ครอง เช่น การดูแลบ้าน  ดูแลครอบครัว ลูก เมีย สามี ฯลฯ
การมีภาระเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องทำงานมากขึ้น  เหนื่อยมากขึ้นเป็นธรรมดา หรือบางคราวตกทุกข์ได้ยาก  มีความยากลำบากในการทำมาหากิน  ทั้งคู่จึงต้องมีสติ อดทน  และใช้ปัญญาช่วยกันหาแนวทางแก้ไข  ข้อนี้จึงเป็นที่มาของคำกล่าวว่า
“รัก คือการอยู่เคียงข้าง  เป็นคู่ทุกข์คู่ยากของกันและกัน”

          จาคะ    คือความเสียสละ แบ่งปัน

การใช้ชีวิตคู่ต้องมีการ “ให้”

ให้อะไร? 

ให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น  ลดการสังสรรค์กับเพื่อนให้น้อยลง
ให้ความเกื้อกูล มีน้ำใจเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน ไม่เพียงแต่คู่ครองของตนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพ่อแม่ของอีกฝ่ายด้วย  

          ตามธรรมชาตินั้น คนเราเมื่ออยู่กันไปนานๆ ความใส่ใจกันอาจลดน้อยลง แต่นี่คือสิ่งสำคัญ เพราะคนเราย่อมต้องการการดูแลเอาใจใส่ และกำลังใจจากคนรักในเวลาที่ท้อแท้เสมอ 
สุดท้าย คือ “การให้อภัย”  เพราะไม่มีใครที่ไม่เคยทำอะไรผิดพลาด เพียงแค่เมื่อทำผิดแล้วยอมรับผิด หาโอกาสพูดคุยเพื่อปรับความเข้าใจกัน แล้วเริ่มใหม่ ชีวิตครอบครัวก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้




การแต่งงาน  เริ่มต้นด้วยความรัก
แต่ครองคู่กันด้วยความเข้าใจ และความเสียสละของคนสองคน

อย่ารอให้ความรักหมดอายุ
เพราะความรัก ไม่ยั่งยืนเท่าความดี  




บทความโดย : เดอะซัน
Facebook : @khaethinkpositive

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประวัติการก่อพระเจดีย์ทราย

คนแบบไหนที่เราควรอยู่ใกล้ๆ

ชนะได้.. แต่ไม่จำเป็นต้องชนะทุกครั้ง !!